อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือโชว์ของดียกประเทศไทยพ้นกับดักยากจน

อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือโชว์ของดียกประเทศไทยพ้นกับดักยากจน

 

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2561 น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 24-25 พ.ค. 2561 สอว.ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จัดสัมมนาความร่วมมือระดับนานาชาติของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ และเยี่ยมชมกลไกการให้บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ

ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารว่างจากกากชาหมักรูปแบบใหม่ “Kombucha”ที่นำวัสดุกากใบชาที่ได้จากขั้นตอนสุดท้ายของการหมัก มาวิจัยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เกิดประโยชน์และมีคุณค่าทางโภชนาการ และสร้างรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นมูลค่ากว่าล้านบาทต่อปี , “BeNeat” สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ผู้คิดค้นรูปแบบการจองแม่บ้านออนไลน์ เพื่อให้บริการ การทำความสะอาดที่อยู่อาศัยและสถานที่ทำงาน ,”สุภาฟาร์มผึ้ง” กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่ดูแลใส่ใจสุขภาพโดยพัฒนากระบวนการผลิตจนได้น้ำผึ้งธรรมชาติระดับพรีเมี่ยมไปสู่ผู้บริโภค

น.ส.ทิพวัลย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมี “บริษัทฟางไทยแฟคทอรี่ จำกัด” เจ้าของรางวัลเหรียญทองจาก International Invention & Innovation Exhibition : ในสาขา Environment and Renewable Energy ประเทศมาเลเซีย ที่พีฒนาคุณสมบัติฟางข้าวไทย ในการดูดซึมน้ำและไขมันเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม และ บริษัท เดอะ ลิตเติ้ล ออนเนี่ยน แฟคทอรี่ ผลิตภัณฑ์สปาและบำรุงผิวแบรนด์ “ภัทรา” ที่สามารถต่อยอดจากงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีนวัตกรรม และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่วัตถุดิบและสมุนไพรในประเทศ ทั้งหมดนี้เป็นการสนับสนุนจาก สอว.และอุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีภาคเหนือและนวัตกรรม (วทน.) เป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยให้การพัฒนาประเทศมีความก้าวหน้าและช่วยให้ก้าวหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

ผอ.สอว.กล่าวต่อว่า ในวันที่ 25 พ.ค.2561 มีการประชุมสัมมนาความร่วมมือระดับนานาชาติของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (International Forum on Open Innovation 2018) โดยมี รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายการสนับสนุนกลไกอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” โดยมีเครือข่ายความร่วมมือจากประเทศไทยและต่างประเทศเข้าร่วมงานจำนวนมาก

 

โกสินธ์ จินาอ่อน
จุฬาลักษณ์ สยมชัย
รายงาน

admin Author